เมื่อไม่นานมานี้ ทางสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้จัดงานเลี้ยงรับรองเหล่านักเรียนทุน Franco-Thai ประจำปี 2019 ซึ่งผู้ที่ได้รับเชิญ มีทั้งนักเรียนทุนที่กำลังจะเดินทางในปีนี้ และศิษย์เก่าที่เคยได้รับทุนในปีก่อนๆ
โอกาสนี้ ทางเราจึงได้แว้บไปขอสัมภาษณ์พี่ๆ ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบัน เพื่อให้เรื่องราวและประสบการณ์ของพวกเขา สร้างแรงบันดาลใจกับทุกคน
เริ่มต้นจากการทำความรู้จักพี่ๆ กันหน่อย:
ภาณุพันธ์ จันทร์เฟื่อง (เต้ย) นักเรียนทุนระดับปริญญาโท สาขา Linguistics ปี 2015
ทิพย์ลดา อินทำ (เตย) นักเรียนทุนระดับปริญญาเอก สาขา Literature ปี 2019
จิราวรรณ เกียรติโพธ (กิ๊ม) นักเรียนทุนระดับปริญญาโทสาขา Linguistics ปี 2014 / ป.เอก สาขา Linguistics ปี 2019
กิตตินันท์ ธนิสสรานนท์ (นันท์) นักเรียนทุนระดับปริญญาโท สาขา Engineering ปี 2019
ธีรรัตน์ มังคุด (ธี) นักเรียนทุนระดับปริญญาโท สาขา Law ปี 2015
พี่ๆ ในกลุ่มนี้ มีทั้งพี่ศิษย์เก่าที่เคยได้รับทุนมาแล้ว ศิษย์ใหม่ที่กำลังจะเดินทาง และศิษย์เก่าที่ได้รับทุนอีกครั้ง ในปีนี้ เราลองมาฟังประสบการณ์ของพวกเขากันดีกว่า
ก่อนจะไปเรียน เตรียมตัวกันอย่างไรบ้าง?
พี่เต้ย : ” ก็มีการศึกษาดูหลักสูตรครับ ว่าหลักสูตรที่เมืองไหนน่าสนใจกว่ากัน แล้วก็มีการติดต่อกับทางมหาวิทยาลัย จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่พัก ค่าครองชีพเนี่ย เราก็ดูด้วยว่า ถ้าเราไปเมืองนี้แล้ว เราน่าจะแฮปปี้กว่าอีกเมืองนึงรึเปล่า”
พี่เตย : “จริงๆ มหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสส่วนใหญ่ ก็จะมีระดับ หรือคุณภาพการศึกษาที่ค่อนข้างเท่ากัน อยู่ที่ว่า บางทีน้องๆ อาจจะเลือกเมืองที่อยากไป สภาพแวดล้อมแบบไหน ค่าครองชีพ อยู่ไกลจากปารีสไหม หรือว่าเราชอบความสงบ อยากอยู่ทางเหนือทางใต้ก็แล้วแต่เราอะค่ะ เพราะเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่นานพอสมควร ก็ต้องศึกษาข้อมูลดีๆ อาจจะถามจากคนรู้จัก หรือจะปรึกษา Campus France เขาจะคอยให้คำแนะนำได้ว่าแต่ละเมืองค่าครองชีพเป็นยังไง”
ก่อนออกเดินทาง ตั้งเป้าหมายในการไปเรียนต่อครั้งนี้ว่าอย่างไร หรือสิ่งที่ได้จากการไปศึกษามาแล้ว?
พี่นันท์ : “อยากจะไปเรียนเพราะว่าอยากจะไปทำงานในสาย “สร้าง” ไม่ใช่สาย “ซ่อม” อย่างที่ประเทศไทยมีเป็นหลัก ทีนี้เป้าหมายของผมก็คือหางานทำที่นู่นสักพักหนึ่งก่อนจะกลับมาประเทศไทย”
พี่กิ๊ม : “เป็นอาจารย์ค่ะ ก็เลยคิดว่า อยากจะไปเรียนกลับมาจะได้ใช้สิ่งที่เรียนประยุกต์กับการสอนเด็กๆ นักศึกษาได้ แล้วก็ปีนี้ก็จะไปต่อเพื่อที่จะไปต่อยอดความรู้อีก แล้วก็จะนำมาใช้กับนักศึกษา”
พี่ธี : “ตอนนี้กลับมารับราชการเป็นพนักงานอัยการ ก็เลยสามารถได้ใช้ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนที่ฝรั่งเศส คือนอกจากเรื่องของประมวลกฎหมายแล้ว เรายังจะได้ Mindset ของการเรียนที่ยุโรปมาปรับใช้กับการเรียนในไทยได้”
สิ่งที่คิดว่าแตกต่างระหว่างการเรียนการสอนในบ้านเราและที่ฝรั่งเศส?
พี่เต้ย : “ค่อนข้างแตกต่างเลย อันนี้บอกตรงๆ ในส่วนของสายภาษา เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบแล้ว เรียนที่ฝรั่งเศส จะเรียนในห้องประมาณแค่ 30% อีก 70% คือเราต้องอ่านเอง ต้องขยันมากๆ เพราะว่าจะไม่เหมือนที่ไทยที่เราจะรอฟังจากครูผู้สอนอย่างเดียว เราจะต้องอ่านเองเยอะมากครับ”
พี่กิ๊ม : “ที่นู่นจะค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องของการวิพากย์วิจารณ์ สมมุติว่าเรามีประเด็นคำถามขึ้นมา 1 ข้ออะค่ะ เราสามารถใช้เวลาทั้งสองชั่วโมง หรือสามชั่วโมงในการที่จะวิเคราะห์ปัญหานั้นได้เลย คือครูสามารถพักบทเรียนไว้ได้ แล้วเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้ตอบปัญหา ได้โต้แย้ง โต้เถียงกัน มันทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ อันนี้คือสิ่งที่เราอยากนำมาปรับใช้กับเด็กนักเรียนไทย เพราะว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
พี่เต้ย : “ขอเสริมนิดนึง สิ่งที่น่าสนใจเลยคือเพื่อนร่วมห้องครับ เพื่อนร่วมห้องเนี่ย ต่างกับนักเรียนไทยมาก คือเขาจะ active มาก จริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าเขาตอบผิดหรือตอบถูกแต่เขาจะตอบ เขาจะแสดงความคิดเห็นเสมอเลย อันนี้เป็นสิ่งที่มันจะทำให้เราเนี่ยรู้สึกว่าแตกต่างกับที่ไทย”
แล้วอย่างสายกฎหมาย พี่ธีมีความคิดเห็นว่าอย่างไรคะ?
พี่ธี : “มีความเห็นเหมือนกันครับว่าที่นู่นจะเปิดกว้างมากกว่า เวลาเรียนเขาก็กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น แล้วงานที่ได้ก็มีลักษณะแตกต่างจากที่เคยได้รับจากนักศึกษาไทย อย่างเช่นว่า งานที่ได้รับแต่ละครั้ง เราต้อง research เยอะ กว่าที่จะได้รับงานชิ้นหนึ่งมา คือเขาไม่ได้จำกัดกรอบคำตอบ แต่ว่าเขาจะปล่อยให้เราเรียนรู้ แล้วก็ค้นคว้าด้วยตัวเองมากกว่าแล้วก็ไม่มีถูกผิด”
แล้วสิ่งที่พี่ๆ คิดว่า เป็นข้อดีของการเรียนในประเทศเราล่ะคะ?
พี่กิ๊ม : “คือเรียนในไทยอะดีที่ว่าเราอยู่กับครอบครัว เวลาเราต้องการกำลังใจ มันใกล้ มันง่ายมาก เราอยู่กับเพื่อน อยู่กับครอบครัวที่เราสนิท อยู่ที่นู่นมันอาจจะห่างไกลนิดนึง แต่ว่าบรรยากาศในการเรียนรู้มันเปิดกว้าง มันอาจจะทำให้เรากระตือรือร้นกับการเรียนมากขึ้น แต่ดีที่ว่ามันมีสื่อไว้ติดต่อกับคนที่เมืองไทย”
เคล็ดลับการเรียนภาษาต่างประเทศที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น?
พี่เต้ย : “เคล็ดลับการเรียนภาษา เอาจริงๆ แล้ว คือการใช้ครับ สมมุติเราได้ได้ก็เหมือนเราได้ทบทวนตลอดเวลาทำให้เราไม่ลืมครับ”
พี่เตย : “ส่วนใหญ่ชอบฟัง เขาบอกว่าถ้าเราอยู่ในบริบทแวดล้อมแบบเมืองไทย เราอาจะไม่ได้พูดหรืออะไร แต่ว่าสมัยนี้ก็มีสื่อ ถ้าเราฟังบ่อยๆ ก็จะซึมซับไปเรื่อยๆ อาจจะฟังตอนที่เราทำงาน ไม่ได้ตั้งใจฟังมาก แต่ฟังบ่อยๆ จะเป็นการเรียนรู้ที่ดี ให้เราเกิดการซึมซับ ให้ภาษาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากที่สุดค่ะ”
พี่กิ๊ม : “ตอนนี้ก็ชอบสื่อค่ะ สมมุติว่าเราอยู่กับอะไรเยอะๆ เราก็จะปรับเปลี่ยนระบบให้เป็นภาษาฝรั่งเศส อย่างสมมุติโปรแกรมในคอม โปรแกรมในมือถือเราก็จะตั้งเป็นภาษาฝรั่งเศสให้หมดเลย เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้คำศัพท์ทุกวันๆ หรือตามข่าวที่เป็นสำนักข่าวฝรั่งเศส”
พี่นันท์ : “สำหรับภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวผมเคยไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกามา ก็อย่างที่พี่ๆ พูด คือถ้าเอาตัวเองไปอยู่ในนั้น ได้ใช้ได้ฟังเรื่อยๆ ทุกวัน ถึงแม้จะกลับมาแล้วก็ยังเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีภาษาอังกฤษ มันก็จะซึมซับได้เอง”
พี่ธี : “ก็จะเอาภาษาอังกฤษมาใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด หากเราต้องการวัดผล เราก็ต้องฝึกทำข้อสอบเยอะๆ”
คุยถึงการเตรียมตัวเพื่อสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศส?
พี่เต้ย พี่เตย พี่กิ๊ม : “การเตรียมตัวสอบ DELF อาจจะเรียนด้วยตัวเองหรือมาเรียนที่สมาคมฝรั่งเศสก็ได้มีคอร์สค่ะ ในการยื่นเรียนต่อหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสทางมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดว่าผู้สมัครต้องทดสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศสมาแล้ว”
พี่นันท์ : “ในส่วนของผม ภาษาฝรั่งเศสอาจจะไปโฟกัสหลังจากได้ทุนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางสถานทูตจะมีคอร์สให้เรียน ในเรี่องของภาษาอังกฤษก็ใช้ให้ได้ ก็คือต้องดูด้วยแหละว่าโปรแกรมที่จะไปเรียนต่อ ต้องใช้คะแนนเท่าไหร่ ขั้นแรกเอาแค่พูดคุยพอรู้เรื่อง เวลาไปเรียนเราจะได้ไม่งง แล้วค่อยพัฒนาต่อ”
พี่ธี : “ถึงแม้จะเรียนในหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ก็ควรมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสในระดับที่พอสื่อสารได้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในการออกสังคมหรือว่าพบปะทักทายกันได้อะครับ ในส่วนทักษะภาษาอังกฤษก็ควรพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญไม่ว่าจะการฟัง การอ่าน การพูด การเขียน”
ฝากถึงคนที่อยากจะสอบชิงทุนบ้าง:
พี่เต้ย: “ก็อยากให้เปิดโอกาสให้ตัวเอง เพราะว่า ทุนนี้จริงๆ เปิดรับทุกคน ทุกสาขา อยากให้มาลองดูครับ”
พี่กิ๊ม : “(สำหรับคนที่สนใจด้านภาษาศาสตร์) เนื่องจากพี่ๆ ไปเรียนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศส คนที่สนใจเรียนต่อสาขานี้ก็ต้องเตรียมด้านระดับภาษาฝรั่งเศส เพราะที่นู่นต้องการผู้ที่มีความสามารถภาษาฝรั่งเศสสูงนิดนึง น้องที่จบปริญญาตรีในเมืองไทยต้องเตรียมตัวกับการการสอบอย่างเข้ม คือระดับ C1 อะค่ะ ”
พี่นันท์ : “ในส่วนของการเตรียมตัวสัมภาษณ์ทุน ก็เอาให้ชัดว่า ตัวเองไปเพราะอะไร แค่นั้นก็พอ”
(สำหรับใครที่อยากรู้จักทุน Franco-Thai ให้มากยิ่ขึ้น อ่านได้ที่นี่)
แต่ละคน มีข้อคิดเห็นจากการเรียนในหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสายภาษา หรือสายอื่นๆ และจะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่พี่ๆ เหล่านี้ให้ความสำคัญ คือการเตรียมตัวเองให้พร้อมและมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่จะทำให้ทุกคน เตรียมตัวเพื่อพิชิตทุนได้ :)