“การฟัง” เป็นวิธีการที่ทำให้เราได้รับข้อมูลเนื้อหาต่างๆ มาใช้ในการประมวลตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ยิ่งเราสามารถรับรู้ข้อมูลได้มากเท่าไหร่เราก็มีปัจจัยใช้ในการตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
บทความนี้ลองมาดูเทคนิคการฟังอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เรารับรู้เนื้อหาข้อมูลลึกซึ้งขึ้น เรียกว่า เทคนิคการฟัง 3 มิติ นั่นคือการฟังให้ได้ เนื้อหา ความรู้สึก และความตั้งใจ นั่นเองครับ
1. การฟังเพื่อรับรู้เนื้อหา หรือคำพูดที่ผู้พูดพูดออกมา เป็นคำบรรยาย ข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาอะไรก็ตามที่เอ่ยออกมา พูดเร็วหรือช้า มีเหตุมีผลหรือกระโดดไปมา โดยทั่วไปเรามักจะฟังได้เนื้อหาหรือเข้าใจว่า คำที่ผู้พูดบอกเราคืออะไร
2. การฟังเพื่อรับรู้ความรู้สึก อะไรคือความรู้สึกเบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น ตอนนี้ผู้พูดรู้สึกอย่างไร เขาหรือเธอรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่เล่า การสังเกตภาษาที่ไม่ใช่คำพูดก็จะช่วยได้มาก เช่น สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ในบางกรณีความรู้สึกของผู้พูดอาจแสดงไม่เด่นชัดแบบนี้ เราผู้ฟังยิ่งต้องเปิดใจรับฟังให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก หรือสังเกตพฤติกรรมต่างๆ อย่างละเอียดมากขึ้น
3. การฟังเพื่อรับรู้ความตั้งใจ อะไรคือความหมายที่แท้จริงที่ผู้พูดหมายถึง ที่จริงแล้วผู้พูดมีความตั้งใจอะไร ผู้พูดมีแนวโน้มจะทำอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น เริ่มต้องอาศัยการตีความของผู้ฟังเข้ามาช่วย
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการฟัง ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคใดก็ตาม นั่นคือความตั้งใจของเราที่จะ “เข้าใจ” ผู้พูดเหล่านั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงได้ข้อมูลผิวเผิน ซึ่งการฟังอย่างตั้งใจนี้ส่งผลให้เกิดสิ่งอื่นๆ ตามมาที่น่าสนใจอีกมากครับ
ข้อมูลจาก: พัฒนกิจ