ถอดบทเรียนจากความสำเร็จ “เอิร์ธ เสฎฐวุฒ กงเต้น” หนึ่งในนักเรียนทุนปีล่าสุดของ Chevening Scholarships

สำหรับนักล่าทุน หรือผู้มีความฝันอยากเรียนต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เชื่อว่าต้องรู้จัก Chevening Scholarships ที่กำลังเปิดรับสมัครในขณะนี้กันอย่างแน่นอน

เพราะทุนนี้เป็นทุนใหญ่ประจำปีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของ UK สามารถสมัครได้แบบไม่มีจำกัดสาขา แถมยังเป็นทุนเต็มจำนวนอีกด้วย

 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในแต่ละปีมีผู้สมัครทุนนี้เป็นจำนวนมาก การเตรียมตัวเองให้พร้อมจึงถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้คุณเพิ่มโอกาสในการพิชิตเป้าหมาย

วันนี้เราจึงอยากจะชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากหนึ่งในนักเรียนทุนปีล่าสุดของ Chevening Scholarships : คุณเอิร์ธ เสฎฐวุฒ กงเต้นกันค่ะ

 

 

ถอดบทเรียนจากความสำเร็จ “เอิร์ธ เสฎฐวุฒ กงเต้น” 

เอิร์ธ เสฎฐวุฒ กงเต้น จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ (IA) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักเรียนทุน Chevening ปี 2024 ณ สถาบัน The London School of Economics and Political Science (LSE)

ขณะที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี เขาได้รู้จักกับทุนนี้ผ่านทางรุ่นพี่ที่สาขา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัว และตั้งเป้าหมายเพื่อพิชิตทุน Chevening 

เพราะหลงใหลในสำเนียง British รวมถึงความ posh ของอังกฤษ แถมนี่ยังเป็นทุนเต็มจำนวนที่เลือกเรียนสาขาอะไรก็ได้ใน UK มันจึงเป็นความฝันหนึ่งเดียวของเรา

เตรียมตัว “ขนาดไหน” กว่าจะได้ทุน Chevening 

สิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆ คือ เอิร์ธเริ่มเตรียมตัวจากการสร้างความเข้าใจ

เขาศึกษาอย่างละเอียดจนรู้ว่าทุนนี้มีรูปแบบอย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไรในการมอบทุน นอกจากนี้เขายังรู้ด้วยว่าตัวเองเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และต้องทำอะไร

นอกเหนือจากการเตรียมโปรไฟล์ด้านวิชาการแล้ว เอิร์ธยังเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมที่จะช่วยทำให้เรซูเมของตัวเองโดดเด่นมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดโลกและมุมมองของตัวเองไปในตัว เพราะเขารู้ว่าหนึ่งในสิ่งที่ Chevening มองหาจากเหล่าผู้สมัครคือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเพื่อพัฒนาและต่อยอดต่อไป 

 

 

เอิร์ธรู้ว่าตัววัดใจหลักของการสมัครทุนนี้อยู่ที่การเขียน Essay 4 หัวข้อที่ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปแบบเดิมและมีคำถามเดียวกันทุกปี แต่จะทำอย่างไรให้งานของตัวเองโดดเด่นจนเตะตากรรมการ?

สิ่งที่เอิร์ธทำคือการปรึกษารุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์ ควบคู่ไปกับศึกษาสิ่งที่สนใจเพื่อนำไปสู่การต่อยอดหลังเรียนจบ และนำสิ่งเหล่านี้มาช่วยในการเรียบเรียงความคิดในการเขียน Essay ภายใต้ 3 เทคนิคหลัก

  • รู้จักตัวอย่างอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไร สนใจอะไรผ่านการลิสต์ประสบการณ์ของที่เคยทำมาให้ได้เยอะที่สุด
  • เข้าใจธีมหลัก รวมถึงความหมายของแต่ละหัวข้อ Essay เพื่อให้สามารถจัดกลุ่มเรื่องราวให้ตรงประเด็นที่สุด 
  •  กระชับและตรงประเด็น โดยเลือกเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องและที่โดดเด่นจริงๆ เพื่อให้อธิบายได้อย่างเห็นภาพ เรียกว่าคัดแต่เนื้อไม่เอาน้ำ อยากสื่ออะไรต้องทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเขียนเพื่อทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงที่มาที่ไป ทำไมถึงสนใจการเรียนต่อในสาขาที่เลือก และมีเป้าหมายในการต่อยอดได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ Chevening คาดหวังจากผู้สมัคร 

เพราะนอกเหนือจากแพชชั่น หรือแรงขับเคลื่อนในด้านการเรียนต่อ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราโดดเด่นท่ามกลางผู้สมัครนับหมื่นคนคือเป้าหมายและแผนการที่เราวางไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการได้เห็นว่า “ทำไมเราจึงคู่ควรที่จะได้รับทุนนี้?” 

 

เมื่อความผิดหวังไม่ใช่อุปสรรค Chevening ลองใหม่ได้เสมอเพราะไม่จำกัดอายุ

เห็นเตรียมตัวดีขนาดนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกเพราะเอิร์ธเองก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ 

อย่างไรก็ตาม ความผิดหวังในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เอิร์ธท้อ เพราะอย่างที่รู้กันว่า Chevening เป็นทุนที่ไม่จำกัดอายุ ดังนั้นหลังจากที่ไม่สำเร็จในปีแรกและรู้ว่าการเขียน Essay ของตัวเองมีข้อผิดพลาดตรงไหน ปีต่อมา เอิร์ธก็สมัครใหม่อีกครั้ง พร้อม Essay ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ท่องไว้เสมอว่าคณะกรรมการผู้อ่านเขาไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แถมผู้สมัครในแต่ละปียังมีมากกว่า 70,000 คน เขาคงไม่พยายามทำความเข้าใจ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองในสิ่งที่เราเขียนไม่เคลียร์

เทคนิคในครั้งนี้ที่เขาใช้คือการยกตัวอย่างและการเขียนประสบการณ์ใน Essay ทั้งหมดให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองจะไปเรียน ซึ่งสิ่งนี้ได้มาจากการวิเคราะห์ผลงานและแนวทางเดิมของตัวเองค่ะ

นอกจากนี้ เขายังได้ศึกษาแนวทางต่างๆ จากอดีตนักเรียนทุน Chevening ในต่างประเทศ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ เพราะเราอาจได้เห็นแนวคิดใหม่จากสิ่งที่เคยมองข้ามไปก็ได้ค่ะ 

 

สัมภาษณ์อย่างไรให้โดนใจกรรมการ จนพิชิตทุน Chevening 

หลังผ่านด่าน Essay สุดหินแล้ว สิ่งที่ทุกคนจะต้องเจอต่อไปคือการสัมภาษณ์ที่แม้จะผ่านมาเป็นร้อยสนาม เชื่อว่าหลายคนก็ยังประหม่า 

สำหรับเอิร์ธ เขาใช้วิธีกลับไปอ่านในสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้ใน Essay เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวสัมภาษณ์ และอาจหาข้อมูลเพื่อเสริมรายละเอียดในบางจุด ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงรอผลด้วยก็ได้

สิ่งสำคัญที่เอิร์ธเน้นย้ำคือ “ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็นทุนชีฟนิ่งและอังกฤษ” เพราะสิ่งนี้ถือเป็นจุดวัดที่กรรมการเองก็ต้องการคำตอบจากคุณเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามขอให้คงความเป็นตัวเองไว้ แล้วความมั่นใจจะตามมา

ที่เราได้ผ่านเข้าสัมภาษณ์ เพราะคณะกรรมการชอบความเป็นเรา ชอบในสิ่งที่เราเขียนแล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องหาเรื่องอื่นๆ มาเพิ่มให้มันยืดยาว

 

ไม่ใช่เพราะเก่ง แต่เพราะเข้าใจตัวเองดีว่าต้องการอะไร จึงพยายามได้ถูกทาง

บางครั้งเราอาจติดกับดักของความคิดว่า “คนเก่งเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้ทุน” ซึ่งมันไม่จริงเสมอไป เพราะเรื่องราวของเอิร์ธได้พิสูจน์แล้วว่า การเข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรอย่างชัดเจน นำไปสู่ความพยายามที่ถูกทาง

เขารู้ว่าตัวเองอาจไม่ได้เก่งมากมายเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ อีกนับหมื่น จึงทดแทนในส่วนนี้ด้วยการให้เวลากับตัวเองมากๆ เพื่อทำความเข้าใจทั้งด้านข้อมูล และแนวทาง เรียกได้ว่าสร้างความได้เปรียบจากการให้เวลาในการเตรียมความพร้อม

คงไม่มีใครที่สามารถเขียนรอบเดียวแล้วสมบูรณ์ไม่มีการแก้ไขใดๆ เพิ่มเติมเลย (อาจจะมีก็ได้ แต่ไม่ใช่ผม) ยิ่งเราเริ่มเตรียมเร็ว ดราฟต์เร็ว ก็จะยิ่งมีเวลามากขึ้นในการตรวจทาน เช็กความเรียบร้อย และให้คนอื่นช่วยรีวิวได้ด้วย

 

 

ที่สำคัญคือ ไม่ตัดกำลังใจตัวเอง เพราะแม้ว่าเราจะเตรียมตัวดีขนาดไหน แต่ก็มีโอกาสที่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างละครึ่ง ดังนั้นหากในปีนี้โอกาสยังไม่เป็นของเราอย่าพึ่งท้อ ลองพยายามดูใหม่ก็ได้ 

หรือหากว่าสุดท้ายแล้วมันจะไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยทุกการเตรียมตัวและฝึกฝนของเราย่อมไม่เสียเปล่า สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ได้ลองก้าวผ่าน comfort zone ของตัวเองมาแล้ว 

ร่วมแสดงความคิดเห็น...

SHARE

ดูเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ...