เผย 7 เทคนิคทางจิตวิทยา ช่วยให้คุณเข้าสังคมง่ายขึ้น ลองนำไปใช้กันดู…

บ่อยครั้งที่เรามักจะพบกับสถานการณ์ที่ชวนให้หงุดหงิด น่าวิตกกังวล น่าอึดอัดและวางตัวไม่ถูก จนส่งผลให้ตัวเองรู้สึกแย่ได้ง่ายขึ้น

อย่ากังวลไป เพราะวันนี้เรามี 7 เทคนิคเชิงจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณรู้ว่าควรจัดการกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอย่างไร มาดูกันเลยดีกว่า

 

วิธีตั้งคำถามเพื่อให้ได้รับคำตอบที่แท้จริง

เวลาซื้อของมือสอง ย้ายเข้าอพาร์ตเมนท์แห่งใหม่ หรือแม้แต่จะใช้บริการอะไรสักอย่าง แน่นอนคุณอาจจะกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับมาว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาหรือเปล่า ผู้เชี่ยวชาฐแนะนำว่าคุณควรตั้งคำถมที่ตรงประเด็นเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริง เช่น เมื่อคุณซื้อรถมือสองแทนที่จะถามว่า “เครื่องนี้โอเคใช่มั้ย? ” ก็เปลี่ยนเป็น “เครื่องนี้มีตรงไหนที่ขัดข้องบ้างหรือเปล่า? ” เป็นต้น

 

วิธีวิจารณ์และให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์

ไม่มีใครชอบการถูกวิพากษ์วิจารณ์และมักจะแสดงออกในการโต้กลับเมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกตำหนิ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าแทนการทักท้วงในข้อผิดพลาดลองเปลี่ยนเป็นการสอนแบบตรงไปตรงมาจะดีกว่า เช่น แทนที่จะบอกกับลูกว่าเขาเขียนบวกเลขผิด ก็เปลี่ยนเป็น ” คุณยายเคยสอนแม่ว่าทำแบบนี้จะทำให้บวกเลขได้ง่ายขึ้น” แล้วอธิบายให้เขาฟัง

 

วิธีสนุกไปกับงานปาร์ตี้

แม้แต่นักแสดงที่ตลกที่สุดหรือนักพูดที่เก่งที่สุดก็ยังต้องประหม่าเมื่อเจอกับคนแปลกหน้าหรือเมื่อเข้าไปในงานปาร์ตี้ที่ไม่คุ้นเคย สิ่งที่พวกเขาแนะนำได้ก็คือพยายามสร้างบทสนทนาที่สุภาพและเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันและความน่ารักของคุณเพื่อคลี่คลายบรรยากาศแปลกหน้าให้เป็นมิตรได้ในทุกสถานการณ์

แต่ถ้าคุณเป็นฝ่ายชวนคุยไม่เก่ง ลองเริ่มจากการทักทายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้มีคนต่อยอดบทสนทนาไปในวงกว้างก็ได้ :)

 

วิธีตอบรับคำชม

คำพูดที่ดีที่สุดเมื่อได้รับคำชมคือการพูดขอบคุณ ส่วนประโยคต่อท้ายคุณอาจพูดอะไรสักเล็กน้อยเพื่อให้บทสนทนาราบรื่นขึ้นโดยไม่ใช้คำพูดที่โอ้ออวดมากเกินไป เช่น ถ้ามีใครสักคนชมว่า “สีผมของคุณสวยจัง” คุณอาจจะตอบกลับว่า “ขอบคุณค่ะ ฉันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก…” หรือ “ขอบคุณค่ะ ฉันเองก็ชอบสีผมของคุณนะ

 

วิธีขอโทษ

เมื่อทำผิดและเรารู้ตัวว่าผิด ใครๆ ต่างก็อยากจะขอโทษเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น แต่บางครั้งมันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพูดเพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อพูดออกไป อีกฝ่ายจะให้อภัยรึเปล่า

นักจิตวิทยาเเนะนำว่า วิธีขอโทษที่ได้ผลมากที่สุดมีอยู่ 5 ขั้นตอน นั่นคือ

– ขอโทษด้วยคำพูดง่ายๆ แต่จริงใจ

– อธิบายให้รู้ว่าสาเหตุของความผิดพลาดคืออะไร

– ยอมรับผิดอย่างไร้เงื่อนไข

– แสดงออกต่อความรับผิดชอบ เช่นการถามว่ามีวิธีไหนที่เราจะทำให้คุณรู้สึกดีได้มั้ย

– สัญญาว่าข้อผิดพลาดนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และทำให้ได้จริงๆ

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมาจากใจ เพราะคำขอโทษที่ไม่จริงใจอาจเลวร้ายกว่าการไม่ขอโทษใดๆ เลยก็ได้

 

วิธีกล่าวคำชมเชย

คำพูดที่ดีอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนพยายามมากขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือทำงานให้ยิ่งมีประสิทธิภาพ แต่เพราะคำชมอาจกลายเป็นภัยหากใช้ไม่ถูกต้อง

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ที่ได้รับการยกย่องในเรื่องสติปัญญามักจะไม่พยายามพัฒนาตัวเองมากนัก เพราะคิดว่าทำได้ดีอยู่แล้ว การกล่าวคำชมจึงควรทำเฉพาะในเหตุการณ์พิเศษ หรือในเวลาที่ทำอะไรบางอย่างได้ดีและมีการพัฒนา เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นและที่สำคัญต้องชมจากใจ

 

วิธีชักชวนผู้อื่น

เคยรู้สึกมั้ยว่า พวกเซลล์ที่ขายของเก่งๆ เขาไปเรียนวิธีการพูดที่จะชักชวนคนให้มาร่วมทำกิจกรรมหรืออะไรสักอย่างมาจากไหน?

ผู้เชี่ยวชาญด้านวาทะศิลป์กล่าวว่า “จงเน้นเป้าหมาย” ควบคุมอารมณ์ด้วยเสียงที่เข้ากันกับเรื่องราวที่กำลังเล่า มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และที่สำคัญที่สุดคือแสดงให้อีกฝ่ายรู้สึกยอมรับให้เราเป็นพวกเดียวกัน เพราะเมื่อรู้สึกวางใจ และเชื่อใจ การพูดคุยก็จะทำได้ง่ายขึ้น

 

สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้คุณสามารถทำกิจกรรมในสังคมได้ง่ายขึ้น และลดความหวาดวิตกเมื่อต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ชวนอึดอัดใจลงได้

ที่มา : www.rd.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น...

SHARE

ดูเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ...