สถาบันสุขภาพและผู้สูงอายุของ Australian Catholic University ประเทศออสเตรเลีย ได้เปิดเผยผลการวิจัยใหม่ที่ระบุว่า การขับรถโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน จะทำให้น้ำหนักตัวและขนาดของรอบเอวเพิ่มขึ้น
ผลวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ใหญ่ 2,800 คน ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีมวลกาย หรือ BMI ขนาดรอบเอว การตรวจน้ำตาลในเลือด และปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและเมตาบอลิซึม โดยพบว่า 25 เปอร์เซนต์ของคนที่ขับรถมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน มีแนวโน้มที่ดัชนีมวลกายจะเพิ่มขึ้น 0.8 หรืออาจเทียบได้กับน้ำหนัก 2.3 กิโลกรัมสำหรับคนที่มีความสูง 170 เซนติเมตร
ขณะที่รอบเอว ก็จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 1.5 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับคนที่ใช้เวลาในการขับรถไปทำงานไม่เกิน 15 นาทีต่อวัน โดยผู้ชายที่ขับรถมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป มีแนวโน้มว่าจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าผู้หญิง
จากข้อมูลของสำนักสถิติออสเตรเลียระบุว่า ปัจจุบัน มีคนใช้รถเป็นพาหนะหลักในการเดินทางไปทำงานมากถึง 78 เปอร์เซนต์ ซึ่งทีมวิจัยมองว่า แทนที่จะมีการรณรงค์เรื่องรถติดและปัญหามลพิษทางอากาศ ควรมีการเพิ่มเรื่องของการใช้ทางเลือกอื่นๆในการเดินทาง เช่น การเดิน หรือการปั่นจักรยานไปทำงาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ