ภาษา เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์มีและเป็นระบบทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ทั้งปวง ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสาร บอกรัก ขอโทษ ถ่ายทอดประสบการณ์ โกหก หลอกลวง หรือแม้แต่ใส่ร้ายป้ายสีกันได้ จนอาจจะนำไปถึงสงครามระหว่างประเทศกันทีเดียว
บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของภาษาที่คนทั่วไปอาจจะไม่เห็นเด่นชัดนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสำคัญมากต่อความเป็นไปของสังคมและโลกของเรา จนถือได้ว่า ถ้าไม่มีภาษา สังคมและโลกของเราก็จะไม่มีอยู่
สมมติฐานของนักภาษากลุ่มหนึ่งเห็นว่า “ภาษาเป็นสิ่งที่สร้างโลก และในเวลาเดียวกันโลกเป็นสิ่งที่สร้างภาษา” หรือ พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่มีภาษา ก็ไม่มี “โลก” อยู่นั่นเอง และถ้าไม่มี สังคม ภาษาก็ไม่มีอยู่นั่นเอง ซึ่งแยกเป็นสองประเด็นได้ดังนี้ครับ
1. ภาษาสามารถ “สร้าง” โลกหรือวัตถุจากสิ่งที่ไม่มีตัวตนได้ และทำให้มนุษย์รับรู้สิ่งที่ไม่มีตัวตนนั้น ราวกับว่ามันมีตัวตน
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ “เวลา” คนเรามักจะคิดว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่จริงๆแล้วเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์ “สร้างขึ้น” เพื่อมาใช้ในการอ้างถึงเพื่อความสะดวกในการนัดพบ นัดเจอ
แต่ถ้ามองจากลักษณะการใช้ภาษา และย้อนมองดูตัวของเราเอง เรามัก “เผลอ” คิดไป และปฎิบัติต่อเวลาราวกับว่า เวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จับต้องได้ หรือแม้กระทั่งเป็น “วัตถุ” ที่ถือครองได้ทั้งๆที่จริงๆแล้ว เวลาเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเท่านั้นเอง
ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ภาษาน่าจะมีส่วนที่ทำให้คน “รับรู้” ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีตัวตน ถือครองได้ นั่นก็คือ ภาษามีบทบาทต่อ “โลก”การรับรู้ของมนุษย์นั่นเอง
2. จุดมุ่งหมายทางสังคมหรือ ทางโลก เป็นสิ่งที่สร้างภาษาและมีอิทธิพลกับการใช้ภาษา
เราสามารถจะพูดได้ว่าการ “ยก” คำพูดหรือข้อความ มาใช้ในบริบทที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นการ “สร้าง”โลกการรับรู้ที่เปลี่ยนไป คนเรามักจะ “ลืม” คิดถึงจุดนี้ว่า ผู้พูดนั้น มีจุดประสงค์ที่ต่างไปในแต่ละบริบท
ถ้าใครเล่าให้เราฟังว่า “มีคนๆหนึ่ง ชอบทรมานสัตว์โดยการควักลูกตา พอเวลาเค้ามีลูก ลูกเค้าก็ตาบอด” ผู้เล่านั้นได้ “สร้างเรื่อง” เพื่อจุดประสงค์ทางสังคมบางประการ อย่าลืมว่า สองเหตุการณ์ เป็นเหตุการที่ ต่างวาระ กัน คือ เป็นเหตุการณ์ ที่เกิดห่างกันเป็นเดือนๆ เป็นปี ๆ
แต่ถ้าดูจากลักษณะการใช้ภาษา มันทำให้เราเข้าใจว่า ความพิการเป็น “ผลต่อเนื่องโดยตรง” ของการทรมานสัตว์ เนื่องจากการการใช้ คำวิเศษณ์เชื่อม เช่น “พอเวลาเค้ามีลูก” ซึ่งแสดงถึงความต่อเนื่อง หรือ ผลของการกระทำของประโยคสองประโยค
และมากไปกว่านั้น เราซึ่งเป็นผู้ฟัง มักลืมคิดไปว่า ถึงแม้เหตุการณ์สองเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์นั้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันหรือเป็นสาเหตุ และผลลัพธ์
พูดง่ายๆ คือ เมื่อคุณ “บรรยาย” สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลายๆอย่าง “อย่างต่อเนื่องกัน” มันทำให้ผู้ฟัง คิดว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ ทำให้เกิดความเป็นเหตุเป็นผลกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์แต่ละอย่างมันเกิดแยกจากกันนั่นเอง
บทความนำมามาจากบางส่วนของบทความ ภาษานั้นสำคัญไฉน เขียนโดยคุณ Krisda