ผลสำรวจล่าสุดพบว่า เด็กไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 3-7 เท่าตัว โดยเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดื่มเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ขณะที่เด็กทั่วโลกดื่มเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี
ซึ่งส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ มีความสูงเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างเตี้ยโดย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร และ ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร เท่านั้น
เด็กไทยขณะนี้มีสัดส่วนความสูงเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 61 หากจะเพิ่มให้ได้เป็นร้อยละ 70 เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ เด็กผู้ชายต้องสูงเฉลี่ยให้ได้ 181.75 เซนติเมตร และผู้หญิงสูงเฉลี่ย 162 เซนติเมตร
มีผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการดื่มนมวันละประมาณ 2 แก้วหรือประมาณครึ่งลิตร ร่วมกับการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ โดยนมโคสดเป็นนมที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในการดื่มเพื่อผลของการมีสุขภาพที่ดี ลดพฤติกรรมการติดหวาน ลดเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และฟันผุด้วย
“เด็กที่มีรูปร่างเตี้ยที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูจะมีผลเสียหลายด้าน กล่าวคือ ด้านสติปัญญา การเรียนรู้ พบว่า ส่วนใหญ่จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่มีส่วนสูงตามวัย โดยพบว่าเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยไอคิวเพียง 98.59 ขณะที่ไอคิวค่ากลางของมาตรฐานสากลเท่ากับ 100” นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ในการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัยมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1
เพราะฉะนั้นเด็กๆคนมีการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยนี้ ทั้งเรื่องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ พร้อมดื่มนมทุกวัน โดยในวัยเด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดา 2-3 แก้ว วัยเรียนดื่มนมวันละ 2 แก้ว
สำหรับความคิดที่ว่าลูกจะโตสูงใหญ่ได้ ควรต้องดื่มนมแทนน้ำเปล่า ซึ่งแม้ว่าข้อมูลทางวิชาการจะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เพราะอิ่มนมและไม่อยากรับประทานอาหารอย่างอื่นอีก
ข้อมูลจาก: Eduzones
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย